top of page
  • Writer's pictureทีมพิพิธภัณฑ์

5 ไฮไลต์สุดเจิดจ้า ที่พลาดไม่ได้กับพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย



หลายคนคงได้ยินข่าวว่า การไฟฟ้านครหลวงกำลังจะมีพิพิธภัณฑ์มานานแล้ว แต่ยังไม่เคยรู้ว่า พิพิธภัณฑ์นี้ มีรูปแบบเป็นอย่างไร ภายในประกอบด้วยอะไรบ้าง บทความนี้ จะพาทุกคนไปเที่ยวและเปิดเผยให้รู้ทุกซอกทุกมุมกับ 5 ไฮไลต์สุดเจิดจ้า ที่น่าสนใจของพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย ให้ชาว MEA ได้รู้ก่อนใครเลยจร้า


1. จริง ๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยมี 2 อาคาร

รู้หรือไม่...พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยประกอบด้วย 2 อาคาร ซึ่งถูกออกแบบจากแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างลงตัว เพื่อรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของอาคารไว้ ขณะเดียวกันก็ยังพัฒนาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ให้ทันสมัยอีกด้วย


อาคาร 1 เป็นอาคารโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อายุมากกว่า 105 ปี เป็นสำนักงานแห่งแรกของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ดังนั้น อาคารแห่งนี้ จึงเป็นอาคารหลักที่ใช้ในการจัดแสดงนิทรรศการ ใครก็ตามที่ได้มาเยี่ยมเยือนอาคารนี้ ก็จะรู้สนุก เหมือนได้ทะลุมิติ ย้อนอดีต ดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์กิจการไฟฟ้าไทยอีกครั้ง


อาคารส่วนต่อขยาย ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถระหว่างอาคาร 1 กับอาคาร 6 เป็นอาคารกระจกชั้นเดียว ทันสมัย เรียบง่าย เปิดมุมมองให้กับอาคาร 1 และพระปรางค์วัดเลียบได้อย่างลงตัว ใช้เป็นพื้นที่ในการต้อนรับผู้เข้าเยี่ยมชม สร้างความประทับใจแรกให้กับทุกคนที่มาเยือน


ภาพที่ 1 งานออกแบบพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยและส่วนต่อขยาย


2. ชมภาพจิตรกรรม ชั้น 3 รอบอาคาร และ พระปรางค์วัดเลียบในมุมมองที่ไม่ซ้ำใคร

อาคาร 1 เป็นอาคารโบราณที่มีความเป็นเอกลักษณ์ด้วยภาพจิตรกรรมอันงดงาม ซึ่งใช้เทคนิคการผสมผสานระหว่างการพิมพ์ภาพลายฉลุ (Stencil) และการเขียนสีบนปูนแห้ง อันเป็นเทคนิคที่ช่างฝรั่งนิยมใช้กับงานสถาปัตยกรรมช่วงรัชกาลที่ 5 – 7 เราสามารถชมความงดงามของภาพจิตรกรรมภายในและภายนอกอาคาร 1 ได้หลายจุด โดยเฉพาะฝ้าเพดานห้องประชุม ชั้นที่ 2 เพดานโถงบันไดชั้น 3 ที่ยังมีภาพจิตรกรรมที่มีสภาพสมบูรณ์ ส่วนลายเขียนสีตกแต่งเสาและผนัง ชั้นที่ 3 ด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ของอาคารถูกทาสีทับและมีสภาพชำรุดแล้ว แต่ยังเหลือหลักฐานเพียงพอต่อการรื้อฟื้นรูปแบบดั้งเดิมได้


ภาพที่ 2.1 ภาพจิตรกรรมฝ้าเพดานห้องประชุม ชั้นที่ 2


ภาพที่ 2.2 ภาพจิตรกรรมและลายลายเขียนสีตกแต่งเสาและผนังของอาคาร 1 ในอดีต


นอกจากนี้ อาคาร 1 ชั้น 3 ยังมีจุดชมพระปรางค์วัดเลียบระยะประชิดที่งดงามมาก โดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ใครที่ได้ไปยืนชมพระปรางค์วัดเลียบในช่วงเวลานั้น จะรู้สึกเหมือนต้องมนต์สะกดให้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป ทีมงานแอบไปถ่ายมาแล้ว มุมนี้ใช่เลย ไม่ซ้ำใครแน่นอน


ภาพที่ 2.3 ภาพมุมถ่ายรูปพระปรางค์วัดเลียบจากอาคาร 1



3. ตีตั๋วขึ้นรถรางคันสุดท้ายของไทย

ใครก็ตามที่ได้มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยแห่งนี้ ต้องไม่พลาดกับการเช็กอิน เซลฟี่ ถ่ายรูปกับแลนมาร์คสำคัญ นั่นคือ “รถราง” ของจริง ไม่ใช้สแตนด์อิน ยกมาทั้งคัน เราจะร่วมเดินทางไปกับรถรางคันสุดท้ายของไทยอีกครั้ง แน่นอนว่าต้องสนุกกว่าครั้งไหน ๆ ให้เราได้ซึมซับบรรยากาศของบ้านเมืองในยุคที่ยังมีรถราง กระตุ้นความทรงจำว่า ครั้งหนึ่ง...รถรางเคยเป็นกิจการของการไฟฟ้านครหลวง ก่อนจะยกเลิกไปในที่สุดในปี พ.ศ. 2511


ภาพที่ 3 ภาพจำลองการจัดแสดงรถรางภายในพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย


4. สนุกกับภารกิจ “Back to the Future Journey”

น้อง MEA เจิดจ้า จะพาตะลุยทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ “Back to the Future Journey” เดินทางย้อนเวลา สู่อนาคตจุดประกายการเรียนรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้า เพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ มีห้องนิทรรศการมากกว่า 17 ห้อง ในแต่ละห้องจะค่อย ๆ เล่าอดีตตั้งแต่สมัยที่กรุงสยามยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จุดเริ่มต้นของแสงแรกแห่งสยาม ยุคบุกเบิกของกิจการไฟฟ้า สัมผัสความศิวิไลซ์ของพระนครในสมัยรัชกาลที่ 5 โรงไฟฟ้าวัดเลียบเสียหายจากสงครามโลกที่ 2 ยุคกำเนิด MEA จนถึงโลกแห่งอนาคตของการใช้พลังงาน โดยนิทรรศการฯ ถูกออกแบบให้เต็มไปด้วยเทคนิคแสง สี เสียง มัลติมีเดีย ยิ่งใหญ่ตระการตา ทำให้รู้สึกสนุก เหมือนกับเราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในยุคนั้นจริง ๆ



ภาพที่ 4 ภาพตัวอย่างของงานจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย



5. ตื่นตาตื่นใจกับคลังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของกิจการไฟฟ้าไทย

ฝ่ายสื่อสารองค์กรได้รับการบริจาควัตถุพิพิธภัณฑ์จากพนักงานและหน่วยงานต่าง ๆ หลายร้อยชิ้น แต่ละชิ้นไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เนื่องจากมีเพียงชิ้นเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ rare item สุด ๆ วัตถุเหล่านี้ ช่วยไขปริศนาให้ค่อย ๆ กระจ่าง ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของกิจการไฟฟ้าในยุคเริ่มต้นกับวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นมากขึ้น


ภาพที่ 5.1 วัตถุพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับรถราง อาทิ ป้ายรถรางป้ายสุดท้าย บัตรอนุญาตขับพนักงานรถราง และ เอกสารความร่วมมือของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ระหว่าง รัฐบาลไทย เป็นต้น


ภาพที่ 5.2 วัตถุพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าไทย


พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เกิดจากแรงผลักดันจากฝ่ายบริหารและพนักงานทั้งอดีตและปัจจุบันที่ช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรและสร้างประวัติศาสตร์กิจการไฟฟ้าไทยให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างสะดวกสบาย นำพาความเจริญให้แก่ประเทศชาติในทุก ๆ ด้าน ชาว MEA ร่วมภาคภูมิใจและสนุกไปกับพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยของจริงได้ในปี 2568 นี้


215 views

Comentarios


bottom of page