top of page
  • Writer's picturePrakai Team

ท่องเที่ยวอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากฝีดาษวานร



ท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 ที่กินเวลาต่อเนื่องมาหลายปี ไม่นานมานี้กลับพบการระบาดของโรคเก่าแก่ “โรคฝีดาษวานร” ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสที่ชื่อว่า Monkeypox ตรวจเจอครั้งแรกในลิง ปี ค.ศ. 1958 แม้ว่าจะเจอในลิง แต่แท้ที่จริงไวรัสนี้พบมากในหนูและสัตว์ฟันแทะแถบแอฟริกา และแรกเริ่มเดิมทีเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อสู่คน เชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษวานรนั้นมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ Congo Basin และ West African ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 10 และ 1% ตามลำดับ สำหรับการระบาดในรอบนี้ (อ้างอิงจากเว็บไซต์ www.CDC.gov ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2565) พบว่ามีผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรทั้งสิ้น 31,799 รายทั่วโลก โดยพบชุกชุมในแถบอเมริกาและยุโรป (สเปน อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส) อย่างไรก็ตามพบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ West African ซึ่งมีอัตราการตายต่ำ โดยมีตัวเลขการเสียชีวิตอยู่ที่ 12 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตในแถบแอฟริกา



เชื้อไวรัสจะแพร่จากคนสู่คนเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ผ่านทางการสัมผัสผื่นหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย การพูดคุยใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่สวมหน้ากาก การสัมผัสใกล้ชิดกัน เช่น การกอด การจูบ และการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการแพร่เชื้อจะสิ้นสุดเมื่อผู้ป่วยอาการทุเลาและผื่นตกสะเก็ดหลุดจนหมด ส่วนมากระยะเจ็บป่วยจะนาน 2-4 สัปดาห์ หากมีการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วยเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวเฉลี่ย 7-14 วัน (อาจนานถึง 21 วัน) ถ้าได้รับเชื้อมากพอจะทำให้เกิดอาการ ดังนี้ เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ และต่อมน้ำเหลืองโตสามารถคลำได้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อศอก และขาหนีบ ต่อมาภายในเวลา 2-3 วัน จะมีผื่นขึ้นที่ใบหน้า แขนขา และฝ่ามือฝ่าเท้า เริ่มแรกผื่นจะมีลักษณะเป็นจุดแดง ๆ ต่อมาจะเริ่มนูน กลายเป็นตุ่มน้ำ กลายเป็นตุ่มหนอง และตกสะเก็ดในที่สุด ผื่นของโรคฝีดาษวานรมักจะกินลึกถึงชั้นหนังแท้ทำให้เมื่อหายอาจจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้ได้



อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการระบาดล่าสุด พบว่า ผู้ป่วยมีอาการที่แตกต่างออกไป อาการไข้ในระยะเริ่มต้นพบเพียง 27% ผู้ป่วยอาจพบว่าตนเองติดเชื้อเมื่อเข้าสู่ระยะผื่น พบผื่นบริเวณอวัยวะเพศและรอบ ๆ ทวารหนักถึง 57% ซึ่งคาดว่าได้รับเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดขณะมีเพศสัมพันธ์


การวินิจฉัยโรคฝีดาษวานรประกอบด้วยอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย ร่วมกับมีประวัติเชื่อมโยงกับแหล่งระบาด เช่น มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันหรืออยู่ระหว่างการสอบสวนโรคฝีดาษวานรในแหล่งระบาดภายในระยะเวลา 21 วัน ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของเชื้อ เจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งหรือของเหลวในตุ่มน้ำตุ่มหนองของผู้ป่วยไปส่งตรวจหาเชื้อไวรัสฝีดาษวานรเพื่อยืนยันการวินิจฉัย


ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะกับโรคฝีดาษวานร ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายได้เองโดยรับยารักษาตามอาการและดูแลทำความสะอาดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจนว่าผื่นจะตกสะเก็ดจนหมด สำหรับการป้องกันนั้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนจำเพาะป้องกันโรคฝีดาษวานร แต่พบว่าผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน เช่น ผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ. 2523 หรือ มีอายุมากกว่า 42 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยกว่าและลดโอกาสการเป็นโรคได้ประมาณ 85% ดังนั้นหากในประเทศไทยมีการระบาดในวงกว้างอาจมีการนำวัคซีนไข้ทรพิษกลับมาฉีดอีกครั้งในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง




การท่องเที่ยวให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อเริ่มจากหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาดชุกชุม เช่น อเมริกา สเปน อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ฯลฯ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 2 เมตร รวมถึงใส่หน้ากากเมื่อต้องเข้าไปในที่ที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน เพื่อป้องกันการรับเชื้อจากละอองฝอย ควรจะสังเกตอาการผิดปกติของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดว่ามีผื่นหรือไม่ ไม่ควรไปสัมผัสผื่น ตุ่มน้ำตุ่มหนอง หรือเสื้อผ้าของผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโดยตรง เชื้อไวรัสฝีดาษวานรเป็นเชื้อที่ไม่ทนต่อแอลกอฮอล์ สามารถใช้เจลแอลกอฮอล์ 70% ล้างมือบ่อย ๆ หรือล้างมือด้วยสบู่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้คนในพื้นที่ระบาด ทั้งนี้ถุงยางอนามัยและยาต้านไวรัส PrEP ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสฝีดาษวานรได้


หลังกลับจากพื้นที่ระบาด หรือคิดว่าตนเองมีโอกาสสัมผัสเสี่ยงสูง ให้สังเกตอาการตนเอง 21 วัน นับจากวันที่กลับมายังประเทศไทย ถ้ามีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต และ/หรือมีผื่นขึ้น (บางรายอาจจะไม่มีไข้โดยมีแค่ผื่นก็ได้) ให้รีบแยกตัวจากคนอื่น ๆ ทันที (จะมีการแพร่เชื้อเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการ) สวมหน้ากากอนามัย และติดต่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาล

19 views

Comments


bottom of page